วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ทางหลวงหมายเลข 2013


ภาพภูเขา ทุ่งนา กระท่อม มีเสน่ห์เหมือนภาพวาดจากสมุดวาดเขียนในวัยเด็ก คลาสสิกจริงๆ
สถานที่ : ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย พิษณุโลก
บนทางหลวงหมายเลข 1248 ซึ่งแยกออกไปจากทางหลวงหมายเลข 2013

อำเภอนครไทย แสดงด้วยพื้นที่สีแดง
แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนะครับ
ถ้าเป็นเรื่องการเมืองจะต้องเป็นสีอื่นครับ
         วันก่อน (วันไหนก็ไม่รู้) ผมเขียนเรื่องการผจญภัยบนทางหลวงหมายเลข 2013 เป็นการเพ้อเจ้อครั้งแรกของผมบนกระดาน BLOGGER ไม่รู้จะเลยเถิดมากเกินไปหรือเปล่า วันนี้เอาใหม่บนเส้นทางเดิม      ภูมิประเทศที่คุ้นเคยของภาคเหนือคือ ภูเขา ภูเขา แล้วก็ภูเขา จนคนอิสานบ่นน้อยใจว่าเหลือภูเขาไว้ให้เขาหน่อยเดียว แต่พิษณุโลกไม่ใช่ภาคเหนือซะทีเดียว ต้องเรียกภาคเหนือตอนล่างเรียกแบบกำกวมซะงั้น แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้นคือวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมบางส่วนที่ไม่ได้เป็นอะไรที่บอกว่าเป็นภาคเหนือหรือเป็นภาคกลาง แต่เป็นอิสานมากกว่า บางส่วนที่ผมว่าก็คืออำเภอนครไทยนี่เอง

แสดงทางหลวงหมายเลข 2013 ช่วงที่ผ่านเข้าตัวอำเภอนครไทย แล้วเลี้ยวขวาออกไป อ.ด่านซ้าย ที่ ต.เนินเพิ่ม
     ผมพูดถึงภูมิประเทศพิษณุโลกก่อนดีกว่า พิษณุโลกมีภูมิประเทศที่แตกต่างกัน อย่างแรกพิษณุโลกมีภูมิประเทศที่เป็นที่ราบแบบภาคกลาง เช่น อำเภอเมือง บางกระทุ่ม พรหมพิราม บางระกำ บางส่วนของวัดโบสถ์ บางส่วนของวังทอง อย่างที่สองมีภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ชาติตระการ นครไทย เนินมะปราง บางส่วนของวังทอง บางส่วนของวัดโบสถ์ (ขนาดภูมิประเทศยังมีสองแบบในอำเภอเดียวกันเลย)

ตัวเชื่อมวัฒนธรรมระหว่าง 2 อำเภอ โปรดใช้วิจารณญาณ
ในการโดยสาร (รถเสียกลางทางอยู่บ้าง)
        นครไทยมีอะไรที่เป็นอิสานมาก แต่ขอบอกว่านครไทยไม่ได้มีต้นตระกูลมาจากอิสานนะครับ แต่มีการเคลื่อนย้ายไปมากันมาก ผสมผสานกันทั้งชาติพันธ์และวัฒนธรรม เพราะนครไทยเป็นประตูสู่อิสาน (อิสานเหนือ) จากนครไทยไปจังหวัดเลย แล้วก็เชื่อมไปอิสานตอนบนกันทั้งหมด ทางหลวงหมายเลข 2013 ที่เชื่อมนครไทยกับภาคอิสาน อำเภอด่านซ้ายเป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดที่สุดของนครไทย (ถ้าไม่นับชาติตระการ) แต่คนสองอำเภอนี้มักจะเหน็บแนมกันเองว่า "พวกลาว"  ภาษาพูด วัฒนธรรม แม้แต่เมนูอาหารไม่ได้แตกต่างกันเลย ถ้ามีงานบุญ งานบวช งานแต่ง เราจะคุ้นเคยกับเสียงเพลงของอิสาน เช่น ลำเต้ย ลำซิ่ง ลำเพลิน
     ทางหลวงเส้นนี้ก็เหมือนเส้นทางเชื่อมวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน นั่งรถจากพิษณุโลกไปอุดรธานี เที่ยว 08.30 น.ท่านอาจจะเผลอนึกไปว่ากำลังจะออกจากหมอชิตไปอิสานนะครับ เพราะพูดอิสานกับทั้งคันรถ มีทั้งพระสงฆ์ ที่นั่งหลังสุดสงวนไว้ให้พระคุณเจ้าเท่านั้นนะครับ โยมฝรั่งก็มี ฮาไม่ออกถ้าเจอฝรั่งพูดอิสาน มีเมียอิสานแล้วอยู่กับแบบพอเพียง (แต่ฝ่ายหญิงมักจะไม่ค่อยเพียงพอ) ฝรั่งที่ค่อนข้างสูงอายุ จะรีไทร์ตัวเองจากงานแล้วมักจะมาปักหลักที่เมืองไทยเพราะเหตุผลจากค่าครองชีพ (น่านับถือฝรั่งนะครับ หลายๆ คนอยู่ง่ายกินง่าย แต่เมียบางคนกลับพยายามทำตัวไฮโซ พอมีสามีฝรั่งแล้วมันต้องกดดันให้ตัวเองต้องหรูหรา) แม้หน้าตาผมออกแนวลูกครึ่ง แต่ก็พยายามเว้าไทยไว้ก่อนจะลงนครไทย เส้นทางนี้เชื่อมภาคเหนือของประเทศโดยตรงกับภาคอิสานด้วย ทางหลวงเส้นนี้จึงมีความสำคัญมาก ถ้าไม่นับทางหลวงหมายเลข 12 (ตอนพิษณุโลก -ขอนแก่น) ซึ่งมีการใช้รถใช้ถนนที่คับคั่งมาก เส้นทาง NO.12 นี้ผมคุ้นเคยมากที่สุดก็ว่าได้ (เดาออกหรือยังว่าหน้าตาผมออกแนวไหน) เคยได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สวยที่สุดเส้นทางหนึ่งของประเทศ (จำไม่ได้ไปเก็บข้อมูลนี้มาจากไหน) นอกจากความสวยแล้วผมบวกความเสียวให้ด้วย เอาไป 8 เต็ม 10 คะแนน
รถ พล.-อด. ตัวเชื่อมวัฒนธรรมของสองภาคเข้าด้วยกัน
ขณะที่กำลังวิ่งผ่านหน้าวัดนครไทยวราราม
รถเที่ยวนี้บรรทุกคนโดยสารที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมาก
ข้างหน้าคือย่านดาวน์ทาวน์ของนครไทย
      ถนนที่ตรงเข้าสู่ตัวอำเภอนครไทยเรียก ถนนอุดรดำริห์ รถโดยสารวิ่งผ่านหลังวัดกลางนครไทย เป็นถนนช่วงที่แคบที่สุด และโค้งมากๆ อยู่ในย่านชุมชนแออัดที่สุด ดูแล้วอันตรายมาก ไม่รู้มีใครเคยเป็นอะไรหรือเปล่า เส้นทางนี้ (อุดรดำริห์) เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์นะครับ ผ่านวัดเก่าแก่ถึง 3 วัด เก่าแก่ถึงขนาดอยู่ในยุคเดียวกับสุโขทัย (เล่าไปแล้วไม่เล่าซ้ำ) ผมกำลังหาภาพพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ของวัดนครไทยวรารามมาให้ชม เอาไว้โม้ทีหลัง ผ่านวัดเหนือ (วัดหน้าพระธาตุ) ก็ออกสู่เขตตำบลเนินเพิ่ม มุ่งตะวันออกเฉียงเหนือ จากตำบลเนินเพิ่ม เข้าสู่ตำบลบ่อโพธิ์ อันเป็นตำบลสุดท้ายของอำเภอนครไทย เป็นอำเภอสุดท้ายของภาคเหนือที่เชื่อมภาคอิสาน (อิสานเหนือ) เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน เรียกบ่อเกลือพันปี


ก่อนเข้าเขต อ.ด่านซ้าย อย่าลืมแวะซื้อเกลือจากบ่อเกลือพันปีนะครับ
ที่ตำบลบ่อโพธิ์ รับรองว่าเป็นเกลือในยุคเดียวกับเมื่อพันปีก่อน
ผมว่ามันเหมาะสำหรับถนอมอาหาร
        

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานของนครไทย


ต้นจำปาขาว
       ต้นจำปาขาว อยู่ในท้องที่อำเภอนครไทยบริเวณวัดกลางนครไทย เป็นต้นไม้ดอกประเภทไม้ยืนต้น มีขนาดใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบประมาณ 3 เมตรเศษ สูงประมาณ 9-10 เมตร ความแปลกที่แตกต่างจากต้นจำปาอื่นๆ คือ ต้นจำปาทั่วไป จะมีดอกเป็นสีเหลือง แต่ต้นจำปาต้นนี้ออกดอกเป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอมฟุ้งทั่วบริเวณวัด และถ้านำกล้าจำปาขาวไปปลูกที่อื่น ก็จะมีดอกเป็นสีเหลืองเหมือนดอกจำปาทั่วไป ดังนั้น จึงนิยมนำดอกจำปาขาวแช่ในน้ำบรรจุขวด เพื่อเป็นของที่ระลึก
     ประวัติความเป็นมา ของต้นจำปาขาว ชาวอำเภอนครไทยเชื่อกันว่า พ่อขุนบางกลางท่าวทรงปลูกไว้ เมื่อครั้งครองเมืองบางยาง(นครไทย) ต้นจำปาขาวจึงมีอายุประมาณ 700 ปีเศษ
      นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกเรื่องราวของต้นจำปาขาวว่าพ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกไว้เป็นอนุสรณ์คู่บ้านคู่เมือง ของเมืองบางยาง ซึ่งได้ปลูกไว้ที่วัด ๆ หนึ่งทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถวัดดังกล่าวนี้ ปัจจุบันก็คือ วัดกลางศรีพุทธาราม ดังนั้น จึงประมาณได้ว่า ต้นจำปาขาวปลูกก่อน ปี พ..1806
      หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาอำเภอนครไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2497 ได้ตรัสถามว่า "ต้นจำปาขาวที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถวัดกลางห่าง 7 วา นั้นยังอยู่ไหม" และได้เสด็จทอดพระเนตรต้นจำปาขาว
      ต้นจำปาขาว ได้รับการดูแลรักษาเนื่องจากลำต้นบางส่วนเป็นโพรงผุกร่อน ตั้งแต่ ปี พ..2528 เป็นต้นมา ปัจจุบันใต้ต้นจำปาขาวมีพระรูปของพ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งชาวนครไทยจัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประจำทุกปี 
ต้นจำปาขาว ยืนต้นคู่กับพ่อขุนบางกลางท่าว
ณ วัดกลางนครไทย
ถ้ำกา
     เป็นถ้ำขนาดเล็กมีความกว้างประมาณ 2–5 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตรเศษอยู่ห่างจากตัวอำเภอนครไทยไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร หน้าถ้ำมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น  พื้นถ้ำชื้นเพราะมีใบไม้ปกคลุมอยู่ ที่หลืบผนังถ้ำสูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 2 เมตร มีภาพสลักหินตามแนวลึกของผนังถ้ำยาวประมาณ  6  เมตร  สลักเป็นภาพลายขูดขีด  หรือเส้นรูปกากบาดพาดกันไปมา  สลักลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับที่ภูพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สันนิษฐานว่า    เป็นภาพแกะสลักหินของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
รอยขูดขีดในถ้ำกา
การสืบค้นบรรพบุรุษของคนยุคก่อนบนถ้ำกา
ร่องรอยการกากบาทในผนังถ้ำ น่าจะเป็นที่มาของชื่อถ้ำกา
ความสำคัญของภาพสลักหินที่ถ้ำกา บนเขาช้างล้วง
    1.เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า พื้นที่ยอดเขาช้างล้วงเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
    2.แสดงถึงว่าบริเวณเมืองนครไทยน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนโบราณหรือเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายของคนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากเขตตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เช่น  จังหวัดเลย  หรือบริเวณแม่น้ำโขง
    3.เป็นหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่น่าสนใจ พอที่จะจัดเป็นแหล่งนำทัศนศึกษา เพราะระหว่างทางจะมีธรรมชาติป่าไม้นานาชนิด นก ดอกไม้ป่า ลานก้อนหินปุ่มที่สวยงามและมียอดเขาช้างล้วงที่ทำพิธีปักธงชัย

ยอดเขาช้างล้วงสูงเสียดฟ้าท้าทายผู้กล้า สถานที่ปักธงชัยของพ่อขุนบางกลางท่าว
เมื่อ 700 กว่าปีก่อน เป็นภาพที่คุ้นเคยมากของนักท่องเว็บ
 วัดเหนือหรือวัดหน้าพระธาตุ     

     วัดเหนือหรือวัดหน้าพระธาตุ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ภายในตัวเมืองอำเภอนครไทย  สำรวจพบโบราณสถานที่สำคัญ คือ ใบเสมาศิลาทรายแกะสลัก 2 ด้าน ด้านหนึ่งแกะสลัก  เป็นรูปพระสถูปศิลปะแบบทวารวดีตอนปลาย  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17–18  ส่วนอีกด้านหนึ่งแกะสลักเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร  อิทธิพลสมัยล้านนาไทย  ผสมกับศิลปะสมัยสุโขทัย  สันนิษฐานว่าน่าจะแกะสลักขึ้นภายหลังด้านแรกและคงมีอายุไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 พระพุทธรูปองค์นี้ชาวนครไทยเรียกว่า  “หลวงพ่อเพชร”  ซึ่งเป็น พระพุทธรูปที่ชาวนครไทยเคารพนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
     ภายในบริเวณวัด แต่เดิมชาวบ้านเล่าว่า มีพระธาตุตั้งอยู่หน้าวัด ต่อมาปรักหักพังจึงสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
 ศิลปะสมัยสุโขทัยองค์หนึ่ง ปัจจุบันได้พังทลายลงและภายในเจดีย์บรรจุพระเครื่องทำด้วยเงินและทองคำหลายองค์ ซึ่งบรรจุรวมอยู่กับเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงินและทองเหลืองเป็นจำนวนมาก  สิ่งของดังกล่าว เป็นฝีมือของช่างสมัยโบราณที่ประณีต และงดงามมาก แต่ปัจจุบันของส่วนใหญ่ได้สูญหายไปยังคงเหลือเพียงเล็กน้อย  ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้  และสถานที่ตั้งพระธาตุได้สร้างเป็นเจดีย์ทรงพื้นบ้านแทน ส่วนพระอุโบสถเดิมศิลปสุโขทัย ปัจจุบันมีการสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นบนฐานอุโบสถเดิม

ซุ้มประตูหน้าวัดเหนือ (วัดหน้าพระธาตุ)

ซุ้มประตูภายในวัด
 
ป้ายบอกว่า วัดนี้เป็นโบราณสถาน (จริงๆ)

หลวงพ่อเพชร

พระพุทธรูปางลีลา ใกล้กับหลวงพ่อเพชร
 วัดนครไทยวราราม  หรือวัดหัวร้อง     
ซุ้มประตูวัดนครไทยวรารามหรือหัวร้อง

วิหารหลวงพ่อใหญ่ ข้างในประดิษฐานพระแกะสลัก
จากไม้ เก่าแก่อายุหลายร้อยปี

เรือโบราณ ชื่อนางขุนโขน
 เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุขโทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก เดิมมีศาลาการเปรียญมุงด้วยกระเบื้องไม้แบบโบราณ ซึ่งสวยงามและอ่อนช้อยมาก แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อลงและสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นแทนสถาปัตยกรรมพื้นเมืองที่นับว่าเป็นอาคารทางพุทธศาสนา  หลังสุดท้ายที่เหลืออยู่ในวัดนี้ได้แก่ พระวิหารเก่าใช้มุงด้วยกระเบื้องไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ทั้งองค์ รวมทั้งสาวกซ้ายขวาอีก 2 องค์ ก็สร้างด้วยไม้เช่นกัน นับว่าเป็นศิลปกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่และสวยงามยิ่ง เดิมปลวกกินผุพัง เจ้าอาวาสวัดได้ทำการอนุรักษ์จนอยู่ในสภาพดีและเหมือนเดิม  นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดยังพบร่องรอยการสร้างโบราณสถาน  เช่น  โบสถ์หรือวิหารมีลักษณะแผนผังแบบเดียวกับศิลปะสมัยสุโขทัย ปัจจุบันเหลือแต่ฐานส่วนตัวอาคารปรักหักพังหมดแล้ว
วัดกลางนครไทย    
     มีบางท่านเรียกวัดกลางศรีพุทธาราม ไม่ทราบเท็จจริงอย่างไร

     เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครไทยโบราณ  ในวัดมีโบราณวัตถุสถานที่สำคัญ  เช่น  พระอุโบสถเก่า  สันนิษฐานว่าสร้างโดยฝีมือช่างล้านนาไทยหรือช่างชาวพม่า  รอบ ๆ พระอุโบสถมีพัทธสีมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง ซึ่งเป็นของเก่าแก่ตั้งอยู่โดยรอบ  ส่วนภายในอุโบสถใช้เป็นที่  ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญมีขนาดใหญ่ องค์คือ พระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัย  มีขนาดหน้าตักกว้าง 53 ซม.สูง 68 ซม.และพระพุทธรูปศิลานาคปรก ปางสมาธิศิลปะสมัยลพบุรี 2 องค์  องค์หนึ่งสร้างเสร็จแล้วแต่มีส่วนชำรุดมีขนาดหน้าตักกว้าง 65 ซม.สูง 177 ซม.(เฉพาะองค์พระพุทธรูปสูง 1 เมตร) ส่วนอีกองค์หนึ่งอยู่ในสภาพเป็นโกลน  จัดเป็นศิลปะลพบุรีมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18–19 ซึ่งองค์พระพุทธรูปมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบศิลปะท้องถิ่นมากกว่าจะเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ปัจจุบันพระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัยและพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะสมัยลพบุรี  (องค์สมบูรณ์ได้ถูกโจรกรรมสูญหายแล้ว

ต้นจำปาขาวอายุกว่า 700 ปี เชื่อว่าพ่อขุนบางกลางท่าว
ทรงปลูกอธิษฐานเสี่ยงทายก่อนออกทำศึกกับขอม
ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้จึงมีส่วนกับการประกาศเอกราชของชาติไทย...ว่ามั้ย
     บริเวณวัดกลาง มีต้นจำปาขาวเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นจำปาที่พ่อขุนบางกลางท่าวปลูกไว้  ทางวัดจึงได้บูรณะบริเวณใต้ต้นจำปาขาว เพื่อให้ชาวบ้านประกอบพิธีบวงสรวงได้สะดวก  ตลอดจนเป็นที่สักการะแก่ผู้มาเยือนอำเภอนครไทย

ซุ้มประตูด้านหน้าวัดกลาง
แต่คนมักจะเข้าใจว่าเป็นด้านหลังวัด
พระอุโบสถเก่า สร้างด้วยช่างล้านนา/พม่า
รายล้อมด้วยพัธสีมาศิลาแลง

หลวงพ่อหิน แต่อัศจรรย์ลอยน้ำได้

อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวสร้างโดยกรมศิลปากร
เป็นภาพที่คุ้นเคยที่สุดของนักท่องเว็บ/นักท่องเที่ยว
ไม่นานจากนี้ไป จะมีอนุสาวรีย์ของพ่อขุนฯ ขนาดใหญ่
อลังการ เป็น Landmark ของนครไทยก่อนเข้าตัวเมือง

อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวที่นักท่องเว็บ
ไม่คุ้นเคย สร้างโดยช่างชาวนครไทยผู้ศรัทธา
สร้างมาก่อนที่กรมศิลป์จะสร้างองค์ใหญ่ด้านหน้า 
มีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 ใน 3 ขององค์ใหญ่
 
ข้อมูล/ภาพบางส่วน : อ.สุภาพรรณ  วงศ์สมบัติ
ครู คศ.3 โรงเรียนนครไทย
เรียบเรียง/ต่อเติ่ม/แต่งเติม : สุรัตน์ วิทักษาบุตร
supan2475@gmail.com





วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

นครไทย : เมืองประวัติศาสตร์


นครไทยที่คุณต้องรู้จัก....
     ถ้าอ่านจบแล้วคุณอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องรู้จักนครไทยไปทำไม ผมบอกก่อนจะอ่านก็แล้วกัน (บางทีคุณอาจจะเผลอผ่านเข้ามา) นครไทยเป็นเมืองที่พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง (นครไทย) ปฐมกษัตริย์ของไทย (รู้จักกันดีในพระนาม พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ใช้เป็นที่รวบรวมไพร่พลไปโจมตีขอมสบาดโขลญลำพงที่ศรีสัชชนาลัยและสุโขทัย พร้อมด้วยสหายศึกและเป็นพระญาติที่ใกล้ชิดคือ พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (หล่มสัก) สถาปนาสุโขทัยเป็นราชธานี ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ถึงจะมีใครค้านหรือเห็นเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่หน้าประวัติศาสตร์ของไทยก็เริ่มขึ้นตรงนี้ เราเรียนประวัติศาสตร์กันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาแล้ว BLOG นี้ จึงไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จักเมืองในหุบเขาแห่งนี้ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่นครไทยก็เป็นเมืองในประวัติศาสตร์ที่สำำคัญยิ่ง ถึงเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 700 กว่าปีก็ตาม
อ้าว..เริ่มเลย.............
           1.นครไทยสมัยก่อนประวัติศาสตร์  จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีได้ปรากฏการตั้งถิ่นฐานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมของชุมชนนครไทย ว่าเป็นชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่  ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยในระยะแรกๆ ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทั่วไปตามเพิงผา ถ้ำ ภูเขาและริมสายธารน้ำ มีการค้นพบเครื่องมือประเภทขวานหินขัด ขวานหินมีด้าม ขวานสำริด  และศิลปกรรมที่เด่นคือภาพแกะสลักที่ถ้ำกา เขาช้างล้วง ตำบลนครไทย และที่หน้าผาขีด อำเภอนครไทย ซึ่งเป็นภาพแกะสลัก เป็นลายเส้นและรูปกากบาทพาดกันไปมาบนผนังถ้ำ ซึ่งคล้ายกับภาพแกะสลักที่เทือกเขาภูพาน  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ภาพแกะสลักนี้ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นภาพแกะสลักของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคโบราณ
รอยขีดเขียนในผนังถ้า้ำกา บนเขาช้างล้วง

เขาช้างล้วงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของนครไทย
          ชุมชนนี้คงจะมีพัฒนาต่อมา และขยายตั้งเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นและชุมชนในต่างแดน  ได้ค้นพบเมืองโบราณนครไทยที่มีลักษณะเป็นดินสูงคล้ายหลังเต่า มีพื้นที่ประมาณ 142 ไร่ มีคูน้ำ ชั้นและคันดิน ชั้น มีเมืองหน้าด่าน 4 เมือง คือ เมืองนครชุม  เมืองโคกค่าย (โคกคล้าย) เมืองตานม และเมืองชาติตระการ
          จากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีของอาจารย์ปราณี  แจ่มขุนเทียน เมื่อปี พ..2527จากหลักฐานที่ค้นพบทำให้สามารถสรุปได้ว่า  ชุมชนนครไทยเป็นชุมชนที่มีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ ราวพุทธศักราช 1711 ซึ่งเป็นระยะก่อนการสถาปนา กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณ 110 ปี
ผังเมืองโบราณของนครไทย
          สมัยเริ่มแรกของชุมชนนี้คงเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่นัก มีการสร้างบ้านเมืองที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง คนในท้องถิ่นมีอาชีพทำเกษตรกรรม และล่าสัตว์เป็นอาหาร  อีกทั้งเลี้ยงสัตว์ประเภท วัว ควายไว้ใช้งานมีการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนใกล้เคียง เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เพราะพบหลักฐานการใช้ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินธรรมดา ที่ผลิตจากเมืองศรีสัชชนาลัยในบริเวณนี้ และมีการค้นพบ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว  ในสมัยราชวงค์ซุงและราชวงค์หยวนของจีน ในสมัยนี้มีการนำเครื่องถ้วยตะครันมาใช้ใส่น้ำมันตะเกียง

เครื่องปั้นดินเผาในยุคก่อนของนครไทย

          2.นครไทยสมัยสุโขทัย ชุมชนนครไทย ได้พัฒนาการมีความเจริญระดับชุมชนเมือง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าเมืองนครไทย ได้ปรากฏชื่อครั้งแรกในจารึกวัดมหาธาตุ วัดสระศรี หลักที่ 7 จารึกวัดเขากบหลักที่ 11 และปรากฏชื่อในจารึกหลักที่ 93 ภาษาบาลี ว่า "นครเทยย" นอกจากนั้นยังปรากฎชื่อในจารึกวัดบูรพาราม  หลักที่ 286 ด้านที่ที่กล่าวถึงการขยายอาณาเขตของกษัตริย์สุโขทัยในปีพ..1939 ว่า 

      “เบื้องข้างหนอุดร ลุนครไท...”  และด้านที่ 2 เป็นภาษาบาลี กล่าวถึง ปุพเพ  นครเทยยก จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่านครไทยเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบของเมืองอยู่ในอาณา เขตของอาณาจักรสุโขทัยแล้ว โดยมีฐานะเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย


อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว ประดิษฐาน ณ วัดกลาง นครไทย
เบื้องหลังคือต้นจำปาขาวที่พระองค์ทรงปลูกเสี่ยงทายไว้
เมื่อ 700 ปีก่อน  ปัจจุบันก็ยังคงยืนต้นสวยงามอยู่
       ในสมัยนี้สภาพการดำเนินชีวิตของชาวนครไทยคงดีพอสมควร เห็นได้จากการค้นพบเศษเครื่องถ้วยในชั้นดิน เป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพดีเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผลิตจากศรีสัชชนาลัยและจากจีนแล้วยังพบเครื่องเคลือบของบุรีรัมย์และอันหนำของเวียดนาม
          3.นครไทยสมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้น  ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองนครไทย  คือ  พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า ศักราช  824  มะเมียศก (.. 2005) เมืองนครไทยพาเอาครอบครัวหนีไปเมืองน่าน  และให้พระยากลาโหมไปตามคืนมาได้   จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครไทยกับเมืองน่าน ทำให้ในสงครามการสู้รบระหว่างพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาและพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกราชได้ร่วมมือกับ เจ้าเมืองเชลียงได้นำทัพจากเมืองเชียงใหม่มาปล้นพิษณุโลกและกำแพงเพชร จากสงครามที่เกิดขึ้นเมืองนครไทย คงได้รับผล กระทบจึงได้อพยพครัวหนีภัยสงครามไปเมืองน่าน ทำให้เมืองนครไทยร้างไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งฝ่ายอยุธยาขึ้นไปยึดครองกวาดต้อนกลับมา จึงสร้างเมืองนครไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐได้กล่าวว่า ในปี พ..2020 “แรกตั้งเมืองนครไทย”   
          นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานที่กล่าวถึงดินแดนนครไทย ในสมัยอยุธยามีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านด้านลาวของกรุงศรีอยุธยา และเป็นดินแดนที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง อาณาจักรลานช้างหรือกรุงศรีสัตตนาคนหุตกับอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานของอาณาจักรล้านช้าง ที่กล่าวถึงในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าฟ้างุ้ม  ได้มีพระราชสาส์นแบ่งดินแดนกันระหว่างสองอาณาจักร หลักฐานของฝ่ายลาวมีข้อความว่า "เฮาหากแม่นอ้ายน้องกันมา (ตั้งแต่ขุนบุลม(บรม) พุ้นเจ้า(หมายถึงพระเจ้าอู่ทอง)อยากได้บ้านเมืองเอาเขตแดนภูสามเส้า เมื่อเท้าเถิงภูพระยาพ่อแดนเมืองนครไทยพุ้น"           นอกจากนี้ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อยุธยา แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของเมืองนครไทย   มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านด้านลาวของกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏว่าในปี ..2110 พระชัยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพมาตีพิษณุโลก เพื่อปราบพระมหาธรรมราชา ได้ยกกองทัพเข้ามา ทางเมืองนครไทย จึงกล่าวได้ว่าในสมัยอยุธยาเมืองนครไทยคงมีฐานะเป็นเมืองเรื่อยมา
          4.นครไทยในสมัยรัตนโกสินทร์  จากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เมืองนครไทยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิษณุโลก  ที่มีฐานะเป็นหัวเมืองเอกของเมืองฝ่ายเหนือ
          ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมืองนครไทย ยังคงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิษณุโลกอยู่ ดังปรากฏหลักฐาน ในใบบอกคำรายงานของพระอินทร์คีรีรัตนบุรีปกาสัยเจ้าเมืองนครไทย ได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้ากรมการ นายหมวดนายกอง ขุนหมื่นตัวไพร่ เลขศักคงเมืองนครไทย ทำราชการหัวเมืองขึ้นกับเมืองพระพิศะณุโลกย์"
          เมื่อจัดการปกครองรูปแบบเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลกได้จัดตั้งขึ้น ในปี พ..2433  เมืองนครไทยถูกลดฐานะลงมาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก และแต่งตั้งนายอำเภอขึ้นเป็นผู้ปกครอง นายอำเภอคนแรกชื่อหลวงพิทักษ์กิจบุรเทศ (เป๋า บุญรัตนพันธ์มาดำรงตำแหน่งปี พ..2433–435  
          จากที่กล่าวมา เมืองนครไทย มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สาเหตุที่เมืองนครไทย สามารถพัฒนาชุมชนของตนเองจนกลายเป็นเมืองและคงความสำคัญมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เรื่อยมา น่าจะมีเหตุผลสืบเนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ ประการ  คือ
          1.เมืองนครไทย เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและเส้นทางการเดินทางระหว่างอาณาจักรตอนใน คือ  สุโขทัย และอยุธยากับอาณาจักรลานช้างและหัวเมืองต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขง  โดยนครไทยมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน
          2.นครไทยเป็นแหล่งที่มีสินค้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของรัฐสุโขทัยและอยุธยาตลอดจนเมืองอื่นๆ คือ เกลือ และของป่า โดยเฉพาะเกลือ นครไทยมีบ่อเกลือ ซึ่งถือว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญมากในการดำเนินชีวิตของคนในอดีต และปัจจุบันนี้ การผลิตเกลือที่ตำบลบ่อโพธิ์ยังคงมีการผลิตกันอยู่
          ในด้านประวัติศาสตร์บอกเล่า ชาวนครไทยเชื่อว่า เมืองนครไทย คือเมืองบางยางที่พ่อขุนบางกลางหาวหรือพ่อขุนบางกลางท่าว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์พระร่วงมาปกครอง เพื่อซ่องสุมผู้คนและไพร่พล รวบรวมกองทัพให้เข้มแข็ง  ก่อนจะไปยึดเมืองสุโขทัย จากความเชื่อดังกล่าวทำให้มีตำนานสถานที่ต่างๆ ของนครไทย ที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของพ่อขุนบางกลางหาวแห่งกรุงสุโขทัยอยู่หลายเรื่อง
         
  ในหน้าประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น คือ นครไทยคือพื้นที่สีแดงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ใช้พื้นที่ภูหินร่องกล้า เป็นฐานกำลังขนาดใหญ่ซ่องสุมผู้คนต่อสู้อำนาจรัฐบาลไทยในช่วง พ.ศ.2511-2525 มีคนไทยต่างอุดมการณ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากในสมรภูมิแห่งนี้ ภายหลังที่การต่อสู้อันนองเลือดสงบลง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ท้องที่ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย ก็กลายเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย มีแขกมาเยี่ยมเยียนในฤดูหนาวอย่างล้นหลาม 
ขออนุญาตเจ้าของภาพนะครับ ภาพนี้ ฮ.ฮวอี้กำลังลำเลียงทหาร
ไปสมรภูมิเขาค้อ ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากภูหิืนร่องกล้ามากนัก
บนสมรภูมิภูหินร่องกล้า มีหลายยุทธการที่ใช้โจมดี ผกค.
ผมชอบใช้คำว่า  "นครไทยในยุคสงครามเย็น" ผมว่ามันเท่ห์มาก.....ว่ามั้ย 

ต้องขอบคุณเจ้าของภาพมากครับ ที่ให้ผมละเมิดเอาภาพนี้มาลง
ขอให้คิดเสียว่า ยังไงนครไทยมันก็บ้านผมเอง

ข้อมูล/ภาพ บางส่วน : อ.สุภาพรรณ วงศ์สมบัติ
ครู คศ.3 โรงเรียนนครไทย
เรียบเรียง/ต่อเติม/แต่งเติม : สุรัตน์  วิทักษาบุตร
ผอ.กองวิชาการและแผนงาน ทต.นครไทย พิษณุโลก
supan2475@gmail.com