วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ทางหลวงหมายเลข 2013


ภาพภูเขา ทุ่งนา กระท่อม มีเสน่ห์เหมือนภาพวาดจากสมุดวาดเขียนในวัยเด็ก คลาสสิกจริงๆ
สถานที่ : ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย พิษณุโลก
บนทางหลวงหมายเลข 1248 ซึ่งแยกออกไปจากทางหลวงหมายเลข 2013

อำเภอนครไทย แสดงด้วยพื้นที่สีแดง
แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนะครับ
ถ้าเป็นเรื่องการเมืองจะต้องเป็นสีอื่นครับ
         วันก่อน (วันไหนก็ไม่รู้) ผมเขียนเรื่องการผจญภัยบนทางหลวงหมายเลข 2013 เป็นการเพ้อเจ้อครั้งแรกของผมบนกระดาน BLOGGER ไม่รู้จะเลยเถิดมากเกินไปหรือเปล่า วันนี้เอาใหม่บนเส้นทางเดิม      ภูมิประเทศที่คุ้นเคยของภาคเหนือคือ ภูเขา ภูเขา แล้วก็ภูเขา จนคนอิสานบ่นน้อยใจว่าเหลือภูเขาไว้ให้เขาหน่อยเดียว แต่พิษณุโลกไม่ใช่ภาคเหนือซะทีเดียว ต้องเรียกภาคเหนือตอนล่างเรียกแบบกำกวมซะงั้น แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้นคือวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมบางส่วนที่ไม่ได้เป็นอะไรที่บอกว่าเป็นภาคเหนือหรือเป็นภาคกลาง แต่เป็นอิสานมากกว่า บางส่วนที่ผมว่าก็คืออำเภอนครไทยนี่เอง

แสดงทางหลวงหมายเลข 2013 ช่วงที่ผ่านเข้าตัวอำเภอนครไทย แล้วเลี้ยวขวาออกไป อ.ด่านซ้าย ที่ ต.เนินเพิ่ม
     ผมพูดถึงภูมิประเทศพิษณุโลกก่อนดีกว่า พิษณุโลกมีภูมิประเทศที่แตกต่างกัน อย่างแรกพิษณุโลกมีภูมิประเทศที่เป็นที่ราบแบบภาคกลาง เช่น อำเภอเมือง บางกระทุ่ม พรหมพิราม บางระกำ บางส่วนของวัดโบสถ์ บางส่วนของวังทอง อย่างที่สองมีภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ชาติตระการ นครไทย เนินมะปราง บางส่วนของวังทอง บางส่วนของวัดโบสถ์ (ขนาดภูมิประเทศยังมีสองแบบในอำเภอเดียวกันเลย)

ตัวเชื่อมวัฒนธรรมระหว่าง 2 อำเภอ โปรดใช้วิจารณญาณ
ในการโดยสาร (รถเสียกลางทางอยู่บ้าง)
        นครไทยมีอะไรที่เป็นอิสานมาก แต่ขอบอกว่านครไทยไม่ได้มีต้นตระกูลมาจากอิสานนะครับ แต่มีการเคลื่อนย้ายไปมากันมาก ผสมผสานกันทั้งชาติพันธ์และวัฒนธรรม เพราะนครไทยเป็นประตูสู่อิสาน (อิสานเหนือ) จากนครไทยไปจังหวัดเลย แล้วก็เชื่อมไปอิสานตอนบนกันทั้งหมด ทางหลวงหมายเลข 2013 ที่เชื่อมนครไทยกับภาคอิสาน อำเภอด่านซ้ายเป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดที่สุดของนครไทย (ถ้าไม่นับชาติตระการ) แต่คนสองอำเภอนี้มักจะเหน็บแนมกันเองว่า "พวกลาว"  ภาษาพูด วัฒนธรรม แม้แต่เมนูอาหารไม่ได้แตกต่างกันเลย ถ้ามีงานบุญ งานบวช งานแต่ง เราจะคุ้นเคยกับเสียงเพลงของอิสาน เช่น ลำเต้ย ลำซิ่ง ลำเพลิน
     ทางหลวงเส้นนี้ก็เหมือนเส้นทางเชื่อมวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน นั่งรถจากพิษณุโลกไปอุดรธานี เที่ยว 08.30 น.ท่านอาจจะเผลอนึกไปว่ากำลังจะออกจากหมอชิตไปอิสานนะครับ เพราะพูดอิสานกับทั้งคันรถ มีทั้งพระสงฆ์ ที่นั่งหลังสุดสงวนไว้ให้พระคุณเจ้าเท่านั้นนะครับ โยมฝรั่งก็มี ฮาไม่ออกถ้าเจอฝรั่งพูดอิสาน มีเมียอิสานแล้วอยู่กับแบบพอเพียง (แต่ฝ่ายหญิงมักจะไม่ค่อยเพียงพอ) ฝรั่งที่ค่อนข้างสูงอายุ จะรีไทร์ตัวเองจากงานแล้วมักจะมาปักหลักที่เมืองไทยเพราะเหตุผลจากค่าครองชีพ (น่านับถือฝรั่งนะครับ หลายๆ คนอยู่ง่ายกินง่าย แต่เมียบางคนกลับพยายามทำตัวไฮโซ พอมีสามีฝรั่งแล้วมันต้องกดดันให้ตัวเองต้องหรูหรา) แม้หน้าตาผมออกแนวลูกครึ่ง แต่ก็พยายามเว้าไทยไว้ก่อนจะลงนครไทย เส้นทางนี้เชื่อมภาคเหนือของประเทศโดยตรงกับภาคอิสานด้วย ทางหลวงเส้นนี้จึงมีความสำคัญมาก ถ้าไม่นับทางหลวงหมายเลข 12 (ตอนพิษณุโลก -ขอนแก่น) ซึ่งมีการใช้รถใช้ถนนที่คับคั่งมาก เส้นทาง NO.12 นี้ผมคุ้นเคยมากที่สุดก็ว่าได้ (เดาออกหรือยังว่าหน้าตาผมออกแนวไหน) เคยได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สวยที่สุดเส้นทางหนึ่งของประเทศ (จำไม่ได้ไปเก็บข้อมูลนี้มาจากไหน) นอกจากความสวยแล้วผมบวกความเสียวให้ด้วย เอาไป 8 เต็ม 10 คะแนน
รถ พล.-อด. ตัวเชื่อมวัฒนธรรมของสองภาคเข้าด้วยกัน
ขณะที่กำลังวิ่งผ่านหน้าวัดนครไทยวราราม
รถเที่ยวนี้บรรทุกคนโดยสารที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมาก
ข้างหน้าคือย่านดาวน์ทาวน์ของนครไทย
      ถนนที่ตรงเข้าสู่ตัวอำเภอนครไทยเรียก ถนนอุดรดำริห์ รถโดยสารวิ่งผ่านหลังวัดกลางนครไทย เป็นถนนช่วงที่แคบที่สุด และโค้งมากๆ อยู่ในย่านชุมชนแออัดที่สุด ดูแล้วอันตรายมาก ไม่รู้มีใครเคยเป็นอะไรหรือเปล่า เส้นทางนี้ (อุดรดำริห์) เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์นะครับ ผ่านวัดเก่าแก่ถึง 3 วัด เก่าแก่ถึงขนาดอยู่ในยุคเดียวกับสุโขทัย (เล่าไปแล้วไม่เล่าซ้ำ) ผมกำลังหาภาพพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ของวัดนครไทยวรารามมาให้ชม เอาไว้โม้ทีหลัง ผ่านวัดเหนือ (วัดหน้าพระธาตุ) ก็ออกสู่เขตตำบลเนินเพิ่ม มุ่งตะวันออกเฉียงเหนือ จากตำบลเนินเพิ่ม เข้าสู่ตำบลบ่อโพธิ์ อันเป็นตำบลสุดท้ายของอำเภอนครไทย เป็นอำเภอสุดท้ายของภาคเหนือที่เชื่อมภาคอิสาน (อิสานเหนือ) เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน เรียกบ่อเกลือพันปี


ก่อนเข้าเขต อ.ด่านซ้าย อย่าลืมแวะซื้อเกลือจากบ่อเกลือพันปีนะครับ
ที่ตำบลบ่อโพธิ์ รับรองว่าเป็นเกลือในยุคเดียวกับเมื่อพันปีก่อน
ผมว่ามันเหมาะสำหรับถนอมอาหาร