วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานของนครไทย


ต้นจำปาขาว
       ต้นจำปาขาว อยู่ในท้องที่อำเภอนครไทยบริเวณวัดกลางนครไทย เป็นต้นไม้ดอกประเภทไม้ยืนต้น มีขนาดใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบประมาณ 3 เมตรเศษ สูงประมาณ 9-10 เมตร ความแปลกที่แตกต่างจากต้นจำปาอื่นๆ คือ ต้นจำปาทั่วไป จะมีดอกเป็นสีเหลือง แต่ต้นจำปาต้นนี้ออกดอกเป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอมฟุ้งทั่วบริเวณวัด และถ้านำกล้าจำปาขาวไปปลูกที่อื่น ก็จะมีดอกเป็นสีเหลืองเหมือนดอกจำปาทั่วไป ดังนั้น จึงนิยมนำดอกจำปาขาวแช่ในน้ำบรรจุขวด เพื่อเป็นของที่ระลึก
     ประวัติความเป็นมา ของต้นจำปาขาว ชาวอำเภอนครไทยเชื่อกันว่า พ่อขุนบางกลางท่าวทรงปลูกไว้ เมื่อครั้งครองเมืองบางยาง(นครไทย) ต้นจำปาขาวจึงมีอายุประมาณ 700 ปีเศษ
      นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกเรื่องราวของต้นจำปาขาวว่าพ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกไว้เป็นอนุสรณ์คู่บ้านคู่เมือง ของเมืองบางยาง ซึ่งได้ปลูกไว้ที่วัด ๆ หนึ่งทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถวัดดังกล่าวนี้ ปัจจุบันก็คือ วัดกลางศรีพุทธาราม ดังนั้น จึงประมาณได้ว่า ต้นจำปาขาวปลูกก่อน ปี พ..1806
      หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาอำเภอนครไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2497 ได้ตรัสถามว่า "ต้นจำปาขาวที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถวัดกลางห่าง 7 วา นั้นยังอยู่ไหม" และได้เสด็จทอดพระเนตรต้นจำปาขาว
      ต้นจำปาขาว ได้รับการดูแลรักษาเนื่องจากลำต้นบางส่วนเป็นโพรงผุกร่อน ตั้งแต่ ปี พ..2528 เป็นต้นมา ปัจจุบันใต้ต้นจำปาขาวมีพระรูปของพ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งชาวนครไทยจัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประจำทุกปี 
ต้นจำปาขาว ยืนต้นคู่กับพ่อขุนบางกลางท่าว
ณ วัดกลางนครไทย
ถ้ำกา
     เป็นถ้ำขนาดเล็กมีความกว้างประมาณ 2–5 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตรเศษอยู่ห่างจากตัวอำเภอนครไทยไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร หน้าถ้ำมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น  พื้นถ้ำชื้นเพราะมีใบไม้ปกคลุมอยู่ ที่หลืบผนังถ้ำสูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 2 เมตร มีภาพสลักหินตามแนวลึกของผนังถ้ำยาวประมาณ  6  เมตร  สลักเป็นภาพลายขูดขีด  หรือเส้นรูปกากบาดพาดกันไปมา  สลักลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับที่ภูพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สันนิษฐานว่า    เป็นภาพแกะสลักหินของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
รอยขูดขีดในถ้ำกา
การสืบค้นบรรพบุรุษของคนยุคก่อนบนถ้ำกา
ร่องรอยการกากบาทในผนังถ้ำ น่าจะเป็นที่มาของชื่อถ้ำกา
ความสำคัญของภาพสลักหินที่ถ้ำกา บนเขาช้างล้วง
    1.เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า พื้นที่ยอดเขาช้างล้วงเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
    2.แสดงถึงว่าบริเวณเมืองนครไทยน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนโบราณหรือเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายของคนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากเขตตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เช่น  จังหวัดเลย  หรือบริเวณแม่น้ำโขง
    3.เป็นหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่น่าสนใจ พอที่จะจัดเป็นแหล่งนำทัศนศึกษา เพราะระหว่างทางจะมีธรรมชาติป่าไม้นานาชนิด นก ดอกไม้ป่า ลานก้อนหินปุ่มที่สวยงามและมียอดเขาช้างล้วงที่ทำพิธีปักธงชัย

ยอดเขาช้างล้วงสูงเสียดฟ้าท้าทายผู้กล้า สถานที่ปักธงชัยของพ่อขุนบางกลางท่าว
เมื่อ 700 กว่าปีก่อน เป็นภาพที่คุ้นเคยมากของนักท่องเว็บ
 วัดเหนือหรือวัดหน้าพระธาตุ     

     วัดเหนือหรือวัดหน้าพระธาตุ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ภายในตัวเมืองอำเภอนครไทย  สำรวจพบโบราณสถานที่สำคัญ คือ ใบเสมาศิลาทรายแกะสลัก 2 ด้าน ด้านหนึ่งแกะสลัก  เป็นรูปพระสถูปศิลปะแบบทวารวดีตอนปลาย  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17–18  ส่วนอีกด้านหนึ่งแกะสลักเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร  อิทธิพลสมัยล้านนาไทย  ผสมกับศิลปะสมัยสุโขทัย  สันนิษฐานว่าน่าจะแกะสลักขึ้นภายหลังด้านแรกและคงมีอายุไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 พระพุทธรูปองค์นี้ชาวนครไทยเรียกว่า  “หลวงพ่อเพชร”  ซึ่งเป็น พระพุทธรูปที่ชาวนครไทยเคารพนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
     ภายในบริเวณวัด แต่เดิมชาวบ้านเล่าว่า มีพระธาตุตั้งอยู่หน้าวัด ต่อมาปรักหักพังจึงสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
 ศิลปะสมัยสุโขทัยองค์หนึ่ง ปัจจุบันได้พังทลายลงและภายในเจดีย์บรรจุพระเครื่องทำด้วยเงินและทองคำหลายองค์ ซึ่งบรรจุรวมอยู่กับเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงินและทองเหลืองเป็นจำนวนมาก  สิ่งของดังกล่าว เป็นฝีมือของช่างสมัยโบราณที่ประณีต และงดงามมาก แต่ปัจจุบันของส่วนใหญ่ได้สูญหายไปยังคงเหลือเพียงเล็กน้อย  ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้  และสถานที่ตั้งพระธาตุได้สร้างเป็นเจดีย์ทรงพื้นบ้านแทน ส่วนพระอุโบสถเดิมศิลปสุโขทัย ปัจจุบันมีการสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นบนฐานอุโบสถเดิม

ซุ้มประตูหน้าวัดเหนือ (วัดหน้าพระธาตุ)

ซุ้มประตูภายในวัด
 
ป้ายบอกว่า วัดนี้เป็นโบราณสถาน (จริงๆ)

หลวงพ่อเพชร

พระพุทธรูปางลีลา ใกล้กับหลวงพ่อเพชร
 วัดนครไทยวราราม  หรือวัดหัวร้อง     
ซุ้มประตูวัดนครไทยวรารามหรือหัวร้อง

วิหารหลวงพ่อใหญ่ ข้างในประดิษฐานพระแกะสลัก
จากไม้ เก่าแก่อายุหลายร้อยปี

เรือโบราณ ชื่อนางขุนโขน
 เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุขโทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก เดิมมีศาลาการเปรียญมุงด้วยกระเบื้องไม้แบบโบราณ ซึ่งสวยงามและอ่อนช้อยมาก แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อลงและสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นแทนสถาปัตยกรรมพื้นเมืองที่นับว่าเป็นอาคารทางพุทธศาสนา  หลังสุดท้ายที่เหลืออยู่ในวัดนี้ได้แก่ พระวิหารเก่าใช้มุงด้วยกระเบื้องไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ทั้งองค์ รวมทั้งสาวกซ้ายขวาอีก 2 องค์ ก็สร้างด้วยไม้เช่นกัน นับว่าเป็นศิลปกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่และสวยงามยิ่ง เดิมปลวกกินผุพัง เจ้าอาวาสวัดได้ทำการอนุรักษ์จนอยู่ในสภาพดีและเหมือนเดิม  นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดยังพบร่องรอยการสร้างโบราณสถาน  เช่น  โบสถ์หรือวิหารมีลักษณะแผนผังแบบเดียวกับศิลปะสมัยสุโขทัย ปัจจุบันเหลือแต่ฐานส่วนตัวอาคารปรักหักพังหมดแล้ว
วัดกลางนครไทย    
     มีบางท่านเรียกวัดกลางศรีพุทธาราม ไม่ทราบเท็จจริงอย่างไร

     เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครไทยโบราณ  ในวัดมีโบราณวัตถุสถานที่สำคัญ  เช่น  พระอุโบสถเก่า  สันนิษฐานว่าสร้างโดยฝีมือช่างล้านนาไทยหรือช่างชาวพม่า  รอบ ๆ พระอุโบสถมีพัทธสีมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง ซึ่งเป็นของเก่าแก่ตั้งอยู่โดยรอบ  ส่วนภายในอุโบสถใช้เป็นที่  ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญมีขนาดใหญ่ องค์คือ พระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัย  มีขนาดหน้าตักกว้าง 53 ซม.สูง 68 ซม.และพระพุทธรูปศิลานาคปรก ปางสมาธิศิลปะสมัยลพบุรี 2 องค์  องค์หนึ่งสร้างเสร็จแล้วแต่มีส่วนชำรุดมีขนาดหน้าตักกว้าง 65 ซม.สูง 177 ซม.(เฉพาะองค์พระพุทธรูปสูง 1 เมตร) ส่วนอีกองค์หนึ่งอยู่ในสภาพเป็นโกลน  จัดเป็นศิลปะลพบุรีมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18–19 ซึ่งองค์พระพุทธรูปมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบศิลปะท้องถิ่นมากกว่าจะเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ปัจจุบันพระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัยและพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะสมัยลพบุรี  (องค์สมบูรณ์ได้ถูกโจรกรรมสูญหายแล้ว

ต้นจำปาขาวอายุกว่า 700 ปี เชื่อว่าพ่อขุนบางกลางท่าว
ทรงปลูกอธิษฐานเสี่ยงทายก่อนออกทำศึกกับขอม
ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้จึงมีส่วนกับการประกาศเอกราชของชาติไทย...ว่ามั้ย
     บริเวณวัดกลาง มีต้นจำปาขาวเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นจำปาที่พ่อขุนบางกลางท่าวปลูกไว้  ทางวัดจึงได้บูรณะบริเวณใต้ต้นจำปาขาว เพื่อให้ชาวบ้านประกอบพิธีบวงสรวงได้สะดวก  ตลอดจนเป็นที่สักการะแก่ผู้มาเยือนอำเภอนครไทย

ซุ้มประตูด้านหน้าวัดกลาง
แต่คนมักจะเข้าใจว่าเป็นด้านหลังวัด
พระอุโบสถเก่า สร้างด้วยช่างล้านนา/พม่า
รายล้อมด้วยพัธสีมาศิลาแลง

หลวงพ่อหิน แต่อัศจรรย์ลอยน้ำได้

อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวสร้างโดยกรมศิลปากร
เป็นภาพที่คุ้นเคยที่สุดของนักท่องเว็บ/นักท่องเที่ยว
ไม่นานจากนี้ไป จะมีอนุสาวรีย์ของพ่อขุนฯ ขนาดใหญ่
อลังการ เป็น Landmark ของนครไทยก่อนเข้าตัวเมือง

อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวที่นักท่องเว็บ
ไม่คุ้นเคย สร้างโดยช่างชาวนครไทยผู้ศรัทธา
สร้างมาก่อนที่กรมศิลป์จะสร้างองค์ใหญ่ด้านหน้า 
มีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 ใน 3 ขององค์ใหญ่
 
ข้อมูล/ภาพบางส่วน : อ.สุภาพรรณ  วงศ์สมบัติ
ครู คศ.3 โรงเรียนนครไทย
เรียบเรียง/ต่อเติ่ม/แต่งเติม : สุรัตน์ วิทักษาบุตร
supan2475@gmail.com





วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

นครไทย : เมืองประวัติศาสตร์


นครไทยที่คุณต้องรู้จัก....
     ถ้าอ่านจบแล้วคุณอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องรู้จักนครไทยไปทำไม ผมบอกก่อนจะอ่านก็แล้วกัน (บางทีคุณอาจจะเผลอผ่านเข้ามา) นครไทยเป็นเมืองที่พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง (นครไทย) ปฐมกษัตริย์ของไทย (รู้จักกันดีในพระนาม พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ใช้เป็นที่รวบรวมไพร่พลไปโจมตีขอมสบาดโขลญลำพงที่ศรีสัชชนาลัยและสุโขทัย พร้อมด้วยสหายศึกและเป็นพระญาติที่ใกล้ชิดคือ พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (หล่มสัก) สถาปนาสุโขทัยเป็นราชธานี ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ถึงจะมีใครค้านหรือเห็นเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่หน้าประวัติศาสตร์ของไทยก็เริ่มขึ้นตรงนี้ เราเรียนประวัติศาสตร์กันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาแล้ว BLOG นี้ จึงไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จักเมืองในหุบเขาแห่งนี้ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่นครไทยก็เป็นเมืองในประวัติศาสตร์ที่สำำคัญยิ่ง ถึงเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 700 กว่าปีก็ตาม
อ้าว..เริ่มเลย.............
           1.นครไทยสมัยก่อนประวัติศาสตร์  จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีได้ปรากฏการตั้งถิ่นฐานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมของชุมชนนครไทย ว่าเป็นชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่  ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยในระยะแรกๆ ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทั่วไปตามเพิงผา ถ้ำ ภูเขาและริมสายธารน้ำ มีการค้นพบเครื่องมือประเภทขวานหินขัด ขวานหินมีด้าม ขวานสำริด  และศิลปกรรมที่เด่นคือภาพแกะสลักที่ถ้ำกา เขาช้างล้วง ตำบลนครไทย และที่หน้าผาขีด อำเภอนครไทย ซึ่งเป็นภาพแกะสลัก เป็นลายเส้นและรูปกากบาทพาดกันไปมาบนผนังถ้ำ ซึ่งคล้ายกับภาพแกะสลักที่เทือกเขาภูพาน  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ภาพแกะสลักนี้ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นภาพแกะสลักของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคโบราณ
รอยขีดเขียนในผนังถ้า้ำกา บนเขาช้างล้วง

เขาช้างล้วงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของนครไทย
          ชุมชนนี้คงจะมีพัฒนาต่อมา และขยายตั้งเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นและชุมชนในต่างแดน  ได้ค้นพบเมืองโบราณนครไทยที่มีลักษณะเป็นดินสูงคล้ายหลังเต่า มีพื้นที่ประมาณ 142 ไร่ มีคูน้ำ ชั้นและคันดิน ชั้น มีเมืองหน้าด่าน 4 เมือง คือ เมืองนครชุม  เมืองโคกค่าย (โคกคล้าย) เมืองตานม และเมืองชาติตระการ
          จากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีของอาจารย์ปราณี  แจ่มขุนเทียน เมื่อปี พ..2527จากหลักฐานที่ค้นพบทำให้สามารถสรุปได้ว่า  ชุมชนนครไทยเป็นชุมชนที่มีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ ราวพุทธศักราช 1711 ซึ่งเป็นระยะก่อนการสถาปนา กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณ 110 ปี
ผังเมืองโบราณของนครไทย
          สมัยเริ่มแรกของชุมชนนี้คงเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่นัก มีการสร้างบ้านเมืองที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง คนในท้องถิ่นมีอาชีพทำเกษตรกรรม และล่าสัตว์เป็นอาหาร  อีกทั้งเลี้ยงสัตว์ประเภท วัว ควายไว้ใช้งานมีการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนใกล้เคียง เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เพราะพบหลักฐานการใช้ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินธรรมดา ที่ผลิตจากเมืองศรีสัชชนาลัยในบริเวณนี้ และมีการค้นพบ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว  ในสมัยราชวงค์ซุงและราชวงค์หยวนของจีน ในสมัยนี้มีการนำเครื่องถ้วยตะครันมาใช้ใส่น้ำมันตะเกียง

เครื่องปั้นดินเผาในยุคก่อนของนครไทย

          2.นครไทยสมัยสุโขทัย ชุมชนนครไทย ได้พัฒนาการมีความเจริญระดับชุมชนเมือง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าเมืองนครไทย ได้ปรากฏชื่อครั้งแรกในจารึกวัดมหาธาตุ วัดสระศรี หลักที่ 7 จารึกวัดเขากบหลักที่ 11 และปรากฏชื่อในจารึกหลักที่ 93 ภาษาบาลี ว่า "นครเทยย" นอกจากนั้นยังปรากฎชื่อในจารึกวัดบูรพาราม  หลักที่ 286 ด้านที่ที่กล่าวถึงการขยายอาณาเขตของกษัตริย์สุโขทัยในปีพ..1939 ว่า 

      “เบื้องข้างหนอุดร ลุนครไท...”  และด้านที่ 2 เป็นภาษาบาลี กล่าวถึง ปุพเพ  นครเทยยก จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่านครไทยเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบของเมืองอยู่ในอาณา เขตของอาณาจักรสุโขทัยแล้ว โดยมีฐานะเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย


อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว ประดิษฐาน ณ วัดกลาง นครไทย
เบื้องหลังคือต้นจำปาขาวที่พระองค์ทรงปลูกเสี่ยงทายไว้
เมื่อ 700 ปีก่อน  ปัจจุบันก็ยังคงยืนต้นสวยงามอยู่
       ในสมัยนี้สภาพการดำเนินชีวิตของชาวนครไทยคงดีพอสมควร เห็นได้จากการค้นพบเศษเครื่องถ้วยในชั้นดิน เป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพดีเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผลิตจากศรีสัชชนาลัยและจากจีนแล้วยังพบเครื่องเคลือบของบุรีรัมย์และอันหนำของเวียดนาม
          3.นครไทยสมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้น  ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองนครไทย  คือ  พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า ศักราช  824  มะเมียศก (.. 2005) เมืองนครไทยพาเอาครอบครัวหนีไปเมืองน่าน  และให้พระยากลาโหมไปตามคืนมาได้   จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครไทยกับเมืองน่าน ทำให้ในสงครามการสู้รบระหว่างพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาและพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกราชได้ร่วมมือกับ เจ้าเมืองเชลียงได้นำทัพจากเมืองเชียงใหม่มาปล้นพิษณุโลกและกำแพงเพชร จากสงครามที่เกิดขึ้นเมืองนครไทย คงได้รับผล กระทบจึงได้อพยพครัวหนีภัยสงครามไปเมืองน่าน ทำให้เมืองนครไทยร้างไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งฝ่ายอยุธยาขึ้นไปยึดครองกวาดต้อนกลับมา จึงสร้างเมืองนครไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐได้กล่าวว่า ในปี พ..2020 “แรกตั้งเมืองนครไทย”   
          นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานที่กล่าวถึงดินแดนนครไทย ในสมัยอยุธยามีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านด้านลาวของกรุงศรีอยุธยา และเป็นดินแดนที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง อาณาจักรลานช้างหรือกรุงศรีสัตตนาคนหุตกับอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานของอาณาจักรล้านช้าง ที่กล่าวถึงในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าฟ้างุ้ม  ได้มีพระราชสาส์นแบ่งดินแดนกันระหว่างสองอาณาจักร หลักฐานของฝ่ายลาวมีข้อความว่า "เฮาหากแม่นอ้ายน้องกันมา (ตั้งแต่ขุนบุลม(บรม) พุ้นเจ้า(หมายถึงพระเจ้าอู่ทอง)อยากได้บ้านเมืองเอาเขตแดนภูสามเส้า เมื่อเท้าเถิงภูพระยาพ่อแดนเมืองนครไทยพุ้น"           นอกจากนี้ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อยุธยา แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของเมืองนครไทย   มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านด้านลาวของกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏว่าในปี ..2110 พระชัยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพมาตีพิษณุโลก เพื่อปราบพระมหาธรรมราชา ได้ยกกองทัพเข้ามา ทางเมืองนครไทย จึงกล่าวได้ว่าในสมัยอยุธยาเมืองนครไทยคงมีฐานะเป็นเมืองเรื่อยมา
          4.นครไทยในสมัยรัตนโกสินทร์  จากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เมืองนครไทยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิษณุโลก  ที่มีฐานะเป็นหัวเมืองเอกของเมืองฝ่ายเหนือ
          ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมืองนครไทย ยังคงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิษณุโลกอยู่ ดังปรากฏหลักฐาน ในใบบอกคำรายงานของพระอินทร์คีรีรัตนบุรีปกาสัยเจ้าเมืองนครไทย ได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้ากรมการ นายหมวดนายกอง ขุนหมื่นตัวไพร่ เลขศักคงเมืองนครไทย ทำราชการหัวเมืองขึ้นกับเมืองพระพิศะณุโลกย์"
          เมื่อจัดการปกครองรูปแบบเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลกได้จัดตั้งขึ้น ในปี พ..2433  เมืองนครไทยถูกลดฐานะลงมาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก และแต่งตั้งนายอำเภอขึ้นเป็นผู้ปกครอง นายอำเภอคนแรกชื่อหลวงพิทักษ์กิจบุรเทศ (เป๋า บุญรัตนพันธ์มาดำรงตำแหน่งปี พ..2433–435  
          จากที่กล่าวมา เมืองนครไทย มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สาเหตุที่เมืองนครไทย สามารถพัฒนาชุมชนของตนเองจนกลายเป็นเมืองและคงความสำคัญมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เรื่อยมา น่าจะมีเหตุผลสืบเนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ ประการ  คือ
          1.เมืองนครไทย เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและเส้นทางการเดินทางระหว่างอาณาจักรตอนใน คือ  สุโขทัย และอยุธยากับอาณาจักรลานช้างและหัวเมืองต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขง  โดยนครไทยมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน
          2.นครไทยเป็นแหล่งที่มีสินค้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของรัฐสุโขทัยและอยุธยาตลอดจนเมืองอื่นๆ คือ เกลือ และของป่า โดยเฉพาะเกลือ นครไทยมีบ่อเกลือ ซึ่งถือว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญมากในการดำเนินชีวิตของคนในอดีต และปัจจุบันนี้ การผลิตเกลือที่ตำบลบ่อโพธิ์ยังคงมีการผลิตกันอยู่
          ในด้านประวัติศาสตร์บอกเล่า ชาวนครไทยเชื่อว่า เมืองนครไทย คือเมืองบางยางที่พ่อขุนบางกลางหาวหรือพ่อขุนบางกลางท่าว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์พระร่วงมาปกครอง เพื่อซ่องสุมผู้คนและไพร่พล รวบรวมกองทัพให้เข้มแข็ง  ก่อนจะไปยึดเมืองสุโขทัย จากความเชื่อดังกล่าวทำให้มีตำนานสถานที่ต่างๆ ของนครไทย ที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของพ่อขุนบางกลางหาวแห่งกรุงสุโขทัยอยู่หลายเรื่อง
         
  ในหน้าประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น คือ นครไทยคือพื้นที่สีแดงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ใช้พื้นที่ภูหินร่องกล้า เป็นฐานกำลังขนาดใหญ่ซ่องสุมผู้คนต่อสู้อำนาจรัฐบาลไทยในช่วง พ.ศ.2511-2525 มีคนไทยต่างอุดมการณ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากในสมรภูมิแห่งนี้ ภายหลังที่การต่อสู้อันนองเลือดสงบลง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ท้องที่ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย ก็กลายเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย มีแขกมาเยี่ยมเยียนในฤดูหนาวอย่างล้นหลาม 
ขออนุญาตเจ้าของภาพนะครับ ภาพนี้ ฮ.ฮวอี้กำลังลำเลียงทหาร
ไปสมรภูมิเขาค้อ ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากภูหิืนร่องกล้ามากนัก
บนสมรภูมิภูหินร่องกล้า มีหลายยุทธการที่ใช้โจมดี ผกค.
ผมชอบใช้คำว่า  "นครไทยในยุคสงครามเย็น" ผมว่ามันเท่ห์มาก.....ว่ามั้ย 

ต้องขอบคุณเจ้าของภาพมากครับ ที่ให้ผมละเมิดเอาภาพนี้มาลง
ขอให้คิดเสียว่า ยังไงนครไทยมันก็บ้านผมเอง

ข้อมูล/ภาพ บางส่วน : อ.สุภาพรรณ วงศ์สมบัติ
ครู คศ.3 โรงเรียนนครไทย
เรียบเรียง/ต่อเติม/แต่งเติม : สุรัตน์  วิทักษาบุตร
ผอ.กองวิชาการและแผนงาน ทต.นครไทย พิษณุโลก
supan2475@gmail.com